ลองใช้บริการ COD (เก็บเงินปลายทาง) ของไปรษณีย์ไทย


ตั้งแต่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้า ชุดชั้นในที่บ้าน เปิดหน้าร้านขายด้วยก็จริง แต่ต้องยอมรับว่าร้านไม่ได้อยู่ในเขตชุมชน หรือเป็นสถานที่คนพลุกพล่านมาก

ดังนั้นยอดขายหน้าร้านอย่างเดียวคงไม่พอ การขายของออนไลน์ก็ต้องเข้ามาเสริม ซึ่งช่วงแรก ๆ ขายได้ค่อนข้างดีมาก แต่มาพักหลัง ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยรอบด้านหลาย ๆ อย่างทำให้ยอดขายตกลงมาค่อนข้างเยอะ

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เปิดร้านมา ลูกค้ามักถามว่ามีบริการเก็บเงินปลายทางหรือไม่ พอเราบอกยังไม่มีบริการลูกค้าก็จะไม่ซื้อเลย ข้อนี้เราก็พอเข้าใจลูกค้านะ เพราะสมัยนี้แม่ค้าออนไลน์โกงก็เยอะ มีข่าวแต่ละทีร้านเงียบกันเลย ซึ่งเรายอมรับว่าไม่เคยคิดอยากจะทำบริการเก็บเงินปลายทาง

สาเหตุ (ส่วนตัว)

1. ความเสี่ยง จากกรณีที่ลูกค้าจะไม่ยอมรับสินค้า เมื่อถึงปลายทาง โดยที่เราจ่ายค่าจัดส่งไปแล้ว ไม่สามารถเรียกส่วนนี้กลับคืนได้

2. ความล่าช้าของระบบการโอนเงินคืนให้ร้าน เพราะว่าเงินต้องอยู่ในระบบออนไลน์อย่างน้อย 5-7 วัน (นั่นหมายถึงเงินหมุนเวียนของร้าน)

3. เป็นการเพิ่มภาระค่าจัดส่งสำหรับลูกค้า เพราะการเก็บเงินปลายทาง คงไม่มีร้านไหนที่จะเอามาเป็นภาระของตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

แต่เมื่อยอดขายลดลง เราก็ต้องเลือกที่จะเพิ่มช่องทางในการขาย

วันนี้ตัดสินใจทดลองเปิดใจขายสินค้า "แบบเก็บเงินปลายทาง" เริ่มที่การใช้บริการของไปรษณีย์ก่อน (ช่วงนี้ก็จะเลือกลูกค้านิดหน่อยเอาที่ดูแล้วไว้ใจได้นะคะ ยังกลัว ๆ อยู่)



ถามว่าทำไมไม่ใช่ของเอกชน เช่น Kerry , SCG , J&T ง่าย ๆ เลยค่ะ เพราะเดิมค่าจัดส่งของเอกชนก็แพงกว่าของไปรษณีย์อยู่แล้ว และหากเพิ่มค่าใช้จ่ายเก็บเงินปลายทางอีก จะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ลูกค้า ** แต่ก็มีบริการไว้รองรับนะ กรณีเจอลูกค้าที่กระเป๋าหนัก ยินดีจ่าย **

ขั้นตอนการสมัครก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ง่ายมาก แค่เราโหลดแอฟ Wallet@Post

ทำตามขั้นตอนที่ระบุให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้นเอง

การส่งสินค้าแบบ COD (ต้องเป็นการจัดส่งแบบ EMS เท่านั้นนะคะ)

1. คำนวณยอดเงินให้ดีนะคะ เช่น สินค้าเราราคา 300 บาท ปกติ เราคิดค่าจัดส่งแบบ EMS 50 ยอดรวม 350 แต่ถ้าใช้บริการ COD ต้องบวกเพิ่มอย่างน้อย 11 บาท เราถึงจะได้เงินเข้ากระเป๋า 350 ถ้าใจดีหน่อยก็บวกเพิ่ม 10 บาท ลองมาคำนวณดูนะคะ ก่อนแจ้งยอดเงินกับลูกค้า (กรณีนี้แจ้งยอดกับลูกค้าปลายทางไว้ที่ 360 บาท)

สินค้ารวมราคาทั้งสิ้น 300 บาท

ค่าจัดส่งเก็บเงินปลายทาง 60 บาท

รวมทั้งสิ้น 360 บาท

หักค่าธรรมเนียม COD 3% 10.8 บาท (360*0.03)

เงินที่จะถูกโอนเข้า Wallet 349.2 บาท

เห็นไหมค่ะ นี่แค่ยอดเดิม 350 ขนาดเราคิดเพิ่มจากลูกค้าแล้ว 10 ยอดจริงของเรายังหายไปจากเดิม 0.80 บาท

2. นำสินค้าไปส่งที่ไปรษณีย์ แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ส่งแบบเก็บเงินปลายทาง เจ้าหน้าที่จะให้สติ๊กเกอร์ COD ให้เรามาเพื่อเขียนเบอร์โทรที่ใช้สมัคร Wallet และกรอกยอดเงินที่ต้องการเรียกเก็บปลายทาง





3. เราต้องจ่ายค่าจัดส่งตามจำนวนปกตินะคะ



4. หลังจากนั้นก็รอเจ้าหน้าที่จัดส่ง ไม่เกิน 1-3 วันค่ะ เพราะเป็นการจัดส่งแบบ EMS จะรวดเร็วอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่จัดส่งและได้รับเงินแล้ว จะมีข้อความมาที่เบอร์ของเราว่าได้ทำการจัดส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว


จากเคสตัวอย่างจะเป็นว่าเราส่งสินค้าเย็นวันที่ 15.01.63 ซึ่งต้องนับวันส่งเป็น 16.01.63 (วันพฤหัสบดี) และลูกค้าได้รับสินค้าช่วงบ่ายวันที่ 17.01.63 (วันศุกร์) แต่มีข้อความแจ้งว่าลูกค้าชำระเงินแล้ว วันที่ 18.01.63 (วันเสาร์)

** ต้องทำใจตรงนี้นะคะ ไปรษณีย์ไม่นับวันหยุด **

5. จากนั้นเราต้องรอให้ยอดเงินหลังหักค่าธรรมเนียมเข้ามาในบัญชี Wallet ของเรา ยอดเงินเข้ามาวันจันทร์ที่ 20.01.63


เงินเข้ามาแล้วสามารถถอนเงินออกได้เลยค่ะ ขั้นตอนนี้จะมีค่าธรรมเนียมธนาคารอีกนะคะ ยกเว้นของธนาคารไทยพาณิชย์จะฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม





ถอนเงินไปบัญชีไหนก็ได้ ของเราเลือกถอนเงินเข้าบัญชีไทยพาณิชย์ของแฟน (เพราะของเราไม่มีบัญชีของไทยพาณิชย์นั่นเอง)

ขั้นตอนนี้ต้องรออีก 1-2 วันทำการนะคะ เงินถึงจะเข้าบัญชีธนาคาร




เห็นไหมค่ะว่ากว่าจะได้เงินจากกรณีขายสินค้าแบบเก็บเงินปลายทางกว่าจะได้เงินจริง ๆ ก็ 5-7 วัน นี่ยังไม่รวมกรณีความเสี่ยงที่ลูกค้าจะปฏิเสธรับสินค้าอีกนะคะ ของจะถูกตีกลับให้เรา แต่ค่าส่งที่เราจ่ายไปก่อนหน้านี้คือไม่สามารถเรียกเก็บกับใครได้เลย

เป็นกำลังใจให้กับแม่ค้าออนไลน์ทุกคนนะคะ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มีวิธีไหนที่จะเพิ่มยอดขายได้ เราก็คงต้องลองเสี่ยงดู

บทความโดย ผู้หญิงพันธุ์มินิ

สมุดเงินออมปี 2563 (Saving Memo 2020 Excel File)

จะเริ่มปีใหม่ในอีกไม่กี่วัน สิ่งที่หลายคนจะทำก็คือการวางแผนการใช้เงิน ทั้งเงินโบนัส และเงินเดือน วันนี้ก็เลยมี สมุดบัญชี รายรับ - รายจ่าย ส่วนบุคคล ปี 2563 หรือ สมุดเงินออมปี 2563 


แต่ปีนี้วันที่ 30 ธันวาคม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ทำออกมาให้ดาวน์โหลดออกมาแจกเหมือนทุกปี  แต่ผมดูในไฟล์แล้วเขาทำหมายเหตุไว้แล้วว่า 
สามารถโหลดโปรแกรม Saving ครั้งเดียว แล้วนำไปใช้ได้ทุกปี

โดยแก้ไขปี พ.ศ. ในชีท "มาออมกันนะ" 

ผมจึงขออนุญาตทำการแก้ไข และทำไว้ให้ดาวน์โหลดไว้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่  โดยเป็น excel ไฟล์ครับ ใช้งานง่าย

ลืมรหัส Wi-Fi ทำไงดี ( Find your Wi-Fi password when you forgot it)

บางครั้งรหัสผ่านที่ใช้งานผ่าน Laptop หรือ Desktop ที่เข้าใช้งาน Wi-Fi ใช้ไปนาน ๆ บางคนก็ลืม ยิ่งพอเราเริ่มมีอายุเยอะ ๆ อย่างเพื่อน พี่น้องมาเที่ยวบ้าน พอคนอื่นถามว่ารหัส Wi-Fi อะไร ดันนึกไม่ออก เพราะทั้งมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานดันจำรหัสไว้ให้แล้ว แต่จริง ๆ เรามีวิธีดูว่ารหัสที่เคยตั้งไว้คืออะไร ได้หลายวิธีดังนี้


1. เข้าไปดูในตัว Router , Access Point หรือ  ONT ที่เราใช้งาน แต่ในที่นี้ก็ เราก็ต้องสามารถเข้าในการตั้งค่า Router , Access Point หรือ  ONT ตัวนั้น ๆ ได้หากเข้าไม่ได้ก็หมดสิทธิ์ อีกอย่าง Router , Access Point หรือ  ONT บางตัวก็ไม่สามารถดู Password ที่ตั้งไว้ได้ต้องทำการตั้งใหม่อย่างเดียว





2. การดูจาก Labtop หรือ Desktop ที่เราเคยต่อใช้งาน Wi-Fi และได้ทำการจำรหัสไว้  โดยวิธีการ ดังนี้

2.1 ทำการเชื่อมต่อ Wi-Fi ตัวที่ต้องการดู (แต่ต้องเป็นตัวที่จำรหัสไว้และยังสามารถเข้าใช้งานได้)

จากนั้น ทำการคลิกขวาที่ Wi-Fi ที่อยู่ตรงแถบ taskbar ตรงมุมล่างขวา



2.2 จากนั้นจะปรากฏหน้า Network and Sharing Center ( แต่หากใครไม่เข้าด้วยวิธีนี้ ก็ไปที่ Control Panel\All Control Panel Items\Network and Sharing Center ได้เหมือนกัน) จากนั้น คลิกที่ชื่อ Wi-Fi ที่เราเชื่อมต่ออยู่



2.3 จะปรากฏหน้า Wi-Fi Status > คลิกที่ "Wireless Properties แล้วจะปรากฏหน้าต่างขึ้นมา เลือกที่แทป Security  ตรงด้านล่างให้เราติ้กถูกที่ช่อง Show characters เราก็จะเห็นรหัส Wi-Fi ที่ตั้งไว้และเครื่องคอมพิวเตอร์เราจำไว้ให้ครับ 



วิธีการลบบัญชี Runtastic (Delete Runtastic Account)

Runtastic เป็นแอป Tracking สำหรับออกกำลังกายที่ดีแอปหนึ่ง แต่ว่าบางครั้งเราไปพบแอปอื่นที่ดีกว่า หรืออาจจะซื้อนาฬิกาออกกำลังกายมาแล้ว เช่น Garmin, Suunto อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน แล้วอยากจะลบบัญชีออก วันนี้เลยมาแนะวิธีให้กัน


1. ให้เราทำการ log in เข้าหน้าบัญชีของเราที่ Runtastic.com (เนื่องจากเราไม่สามารถลบผ่านแอปที่ลงในมือถือได้ )

2. เข้าไปที่ Setting จากนั้นดูที่เมนูด้านซ้ายมือเมนู Export > จะมีเมนู Delete my Account ก็ทำการกด


จากนั้นจะขึ้นหน้าต่างถามเพื่อความแน่ใจว่าเราต้องการลบจริงไหม ก็กด ตกลง


 3. เข้าไปที่ email ที่เราใช้สมัคร runtastic เพื่อยืนยันอีกครั้ง จากนั้นก็กด YES,DELETE MY DATA
 (หากไม่เจอใน inbox ต้องลองเข้าดูที่ email ขยะดูครับ)



รอสักพักบัญชีเราก็จะโดนลบออกครับ



ไม่ทิ้งสลิปเอทีเอ็ม ! กันเถอะ

จั่วหัวขึ้นมาแบบนี้ หลาย ๆ คนคงจะจำกันได้ว่าช่วงหนึ่งมีข่าวครึกโครมเรื่องที่คนร้ายสามารถที่จะแกะรอยจากสลิปเอทีเอ็มที่โดนทิ้งอยู่หน้าตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่าง ๆ


เพราะในสลิปเอทีเอ็มแต่ละใบจะมีข้อมูลสำคัญ ๆ เช่น

1 . โลโก้และชื่อธนาคารเจ้าของตู้
2 . วันที่ (DATE) เวลา (TIME) ที่ตั้งของตู้เอทีเอ็ม (LOCATION แสดงเป็นรหัส)
3. ลำดับที่ใช้บริการ (RECORD NO. / SEQ.)
4. ชื่อธนาคารผู้ออกบัตร (ISSUER BANK)
5. ประเภทบริการที่ใช้ เช่น ถอน (WITHDRAWAL) โอน (ORFT TRANSFER)
6. เลขที่บัญชีเงินฝากที่ถอน/โอน (FROM A/C)
7. เลขที่บัญชีเงินฝากผู้รับโอน (TO A/C)
8. จำนวนเงินที่ทำรายการ (AMOUNT)
9. ยอดเงินคงเหลือ (BALANCE)
10 . ค่าธรรมเนียม (FEE)



และที่สำคัญนอกจากการป้องกันข้อมูลส่วนตัวแล้ว สิ่งหนึ่งคือ ความสกปรกหน้าตู้ หน้าธนาคารต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้เกือบทุกธนาคาร ไม่ว่าในเมืองใหญ่ ๆ หรือตามชานเมือง หรือต่างจังหวัด

ส่วนตัวนี่ก็ยังไม่เข้าใจว่า ในเมื่อมีเมนูที่สามารถดูยอดเงินคงเหลือโดยไม่ต้องปริ้นต์สลิปออกมา แถมบางธนาคารก็ยังมีเมนูถามด้วยว่าต้องการรับสลิปหรือไม่ บางคนก็ยังกดออกมาแล้วก็ทิ้ง เฮ้อ.....

อยากให้ฝึกเป็นนิสัย เลือกที่จะไม่รับสลิป (ถ้าไม่ต้องการเก็บหริอนำไปใช้เป็นหลักฐาน) และดูรายละเอียดการทำธุรกรรมผ่านหน้าจอตู้เอทีเอ็ม ช่วยประหยัดกระดาษ รักษาข้อมูลส่วนตัว ช่วยรักษาทรัพยากรเพื่อโลกของเรา

ติดตามอ่านได้อีกช่องทางที่ blogdit  > ไม่ทิ้งสลิปเอทีเอ็ม ! กันเถอะ
Advertisement