แผนธุรกิจที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง


แผนธุรกิจที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง  จงอธิบายโดยละเอียด 

ตอบ   แผนธุรกิจ  หรือ Business Plan หรือ นั้นเป็นเสมือนกรอบแนวทางที่ทำให้การดำเนินการธุรกิจเป็นไปตามแผนงานที่วาง เอาไว้ ทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหม่มีความคิดและเป้าหมายที่ ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะขยายกิจการ แผนธุรกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้ร่วมทุน หรือสถาบันการเงินที่คุณต้องกู้ยืมเงินอีกด้วย
การเริ่มธุรกิจนั้น จะต้องประกอบไปด้วยทักษะ 4 ส่วนหลักๆ
1.ความพร้อมในเรื่องคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการ
2.ความรู้ในเรื่องของสินค้าและบริการที่จะทำ
3.ความรู้ในเรื่องการบริหารคน เงิน และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
4.ความรู้ในเรื่องการวางแผนฯ

  แผนธุรกิจก็คือ Roadmap ที่ต่อ Jigsaw สิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นระบบ โดยจัดทำเป็นเอกสาร...และใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกลยุทธ์กับบุคคลที่เกี่ยว ข้องกับการดำเนินธุรกิจนั้น
  แผนธุรกิจที่ดีจะต้องมองรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายนอก (โอกาส และอุปสรรค) สภาวะการแข่งขัน (คู่แข่ง ลูกค้า Supplier) และมองที่ปัจจัยภายใน ซึ่งผลจากการมองจะช่วยกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้กับธุรกิจนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้...ดังนั้นแผนธุรกิจจะต้อง มีการ Update ทุกๆ 3-6 เดือน เมื่อผู้ประกอบการได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์ มิใช่วางแผนธุรกิจ เพียงครั้งเดียว แล้วใช้ไปตลอด มี การรวบรวมสถิติของสาเหตุความล้มเหลวของธุรกิจ มากกว่า 90% มีสาเหตุมาจากขาดการวางแผนธุรกิจที่ดี กล่าวคือ มักจะใช้ประสบการณ์ หรือ เชื่อในประสบการณ์อย่างเดียว และละเลยการวางแผนธุรกิจ เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเปลี่ยน ก็มักจะปรับตัวไม่ทัน...

ดังนั้นถ้าใช้ประสบการณ์ + การวางแผนธุรกิจที่ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจลงได้มาก

การเขียนแผนธุรกิจ
คือ การถ่ายทอดความคิดเป็นตัวหนังสือ    ตัวเลข กร๊าฟ และแผนภาพ ในกิจกรรมที่ทำแล้วเกิดผล  กำไร
ทำไมต้องเขียนแผนธุรกิจ
1.ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่จะทำได้ชัดเจน เป็นระบบ ลดข้อผิดพลาด
2.ทำให้คนอื่น (ผู้ร่วมลงทุน เพื่อนร่วมงาน ผู้สนับสนุนทุน เป็นต้น) เข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร
3.เป็นแผนที่นำทางในการทำงานในอนาคต


แผนธุรกิจที่ดี เมื่ออ่านแล้วควรจะต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ 
1.การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง
2.ธุรกิจนี้น่าลงทุนหรือไม่
3.ธุรกิจที่จะทำมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
4.ธุรกิจนี้มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด
5.สินค้าที่จะผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
6.สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
7.วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้น มีทางเลือกอื่นๆ ที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่
8.หน้าที่ต่างๆ เช่นการผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีเหมาะสมเพียงใด
9.จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่

ดังนั้นการจะเขียนแผนธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมขั้นพื้นฐานก่อน ดังต่อไปนี้

1. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
บทสรุปผู้บริหาร เป็นส่วนที่สรุปภาพรวมของแผนธุรกิจนั้นๆไว้ ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ผู้ร่วมทุน และสถาบันการเงินจะอ่านก่อนเป็นอย่างแรก และตัดสินใจว่าจะอ่านต่อจนจบหรือไม่ ผู้ประกอบการจึงควรสละเวลาเป็นพิเศษในการทำให้บทสรุปผู้บริหารนี้น่าเชื่อ ถือ หนักแน่น และน่าติดตาม โดยเน้นหนักเรื่อง
  - ลักษณะและแนวคิดของธุรกิจ
  - โอกาสและกลยุทธ์หลักที่ใช้
  - กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
  - ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ
  - ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไร
  - ทีมผู้บริหาร
  -ข้อเสนอผลตอบแทน (กรณีหาแหล่งทุนภายนอก)

2. ประวัติย่อของกิจการ
ประวัติย่อของกิจการ  เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ
-ประวัติกิจการ/ผู้ประกอบการอย่างสั้น
-สถานที่ตั้งของกิจจการของเรา
-วิสัยทัศน์ (Vision)
-ระบุสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากให้องค์กรเป็นในอนาคตข้างหน้า
-เราคือใคร? เราจะทำอะไร? เราจะมุ่งหน้าไปที่ไหน?
-ภารกิจหลัก (Mission) หรือ พันธกิจ
-กรอบในการดำเนินงานขององค์กร
-ลูกค้าของเราคือใคร? เราจะต้องทำอะไร? ทำอย่างไร? เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า)

3. การวิเคราะห์สถานการณ์
การวิเคาระห์สถานการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดทิศทาง กลยุทธิ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ จึงเป็นงานอันดับแรกที่คุณควรกระทำ เครื่องมือที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์นั้นเรียกว่า SWOT Analysis ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยภายในอย่างจุดแข็ง (Strength) และ จุดอ่อน (Weaknesses) ของกิจการ รวมไปถึงโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก

4. วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ
วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ คือ ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องได้รับในช่วงระยะเวลาของแผนนั่นเอง การวางแผนเป้าหมายทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือนั้นคุณจะต้องแสดงให้เห็นความเป็น ไปได้ ที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น
  -ระบุสิ่งที่จะต้องทำให้ประสบผลสำเร็จ อาจแบ่งออกเป็นวัตถุประสงค์ระยะสั้นและระยะยาวหรืออาจแบ่งออกเป็นวัตถุประสงค์ด้านการตลาด ด้านการผลิต ด้านการเงิน ฯลฯ
  -เป้าหมาย (Goal)  ระบุตัวชี้วัดสำหรับวัตถุประสงค์ในแต่ละข้อ

5. แผนการตลาด
แผนการตลาด การเขียนแผนการตลาด ผู้เขียนจะต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์ ร่วมกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่ได้กล่าวไปในข้อ 3 และข้อสี่ เพื่อใช้หาเป้าหมายทางการตลาด ทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายนั้น และสร้างกลยุทธ์ต่างๆ เช่น
  -ยอดขาย (Sales Value)
  -ปริมาณขาย (Sales Volume)
  -ส่วนแบ่งตลาด (Market Share)
  -การเจริญเติบโตของตลาด (Market Growth)
  -ฐานลูกค้า (Customer Share)
  -ระดับความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction)
  -อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ (Re-purchase Rate)

6. แผนการผลิต
การเขียนแผนการผลิตนี้ผู้เขียนจำเป็นต้องเขียนเรื่องแผนการผลิตและการ ปฏิบัติให้ละเอียด เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถของกิจการในการจัดการกระบวนการผลิตและ ปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ที่สำคัญต้องมุ่งเน้นประเด็นการจัดการระบบการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรใน การผลิตให้เป็นผลผลิต ซึ่งในที่นี้คือจำนวนหรือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้นั่นเอง เช่น
  -กระบวนการผลิต
  -สินทรัพย์ถาวรที่ใช้ในการผลิต อายุการใช้งาน และเงินลงทุน
  -กำลังการผลิตที่วางไว้
  -ที่ตั้งโรงงานและการวางผังโรงงาน
  -รายการวัตถุดิบ จำนวนที่ใช้ และต้นทุนวัตถุดิบ
  -แรงงาน ตำแหน่งงาน คุณสมบัติของแรงงาน
  -ต้นทุนแรงงาน
  -ค่าใช้จ่ายโรงงาน
  -สรุปต้นทุนการผลิต (นำไปปรับปรุงราคาในแผนการตลาด)

7.แผนการจัดการและแผนคน
ส่วนนี้คือการเขียนแผนผังโครงสร้างขององค์กรนั่นเอง ผู้จัดทำแผนจะต้องระบุตำแหน่ง หน้าที่ และประโยชน์ของหน่วยงานในองค์กร เช่น
-รูปแบบธุรกิจ
  -โครงสร้างองค์กร (ผังองค์กร)
  -ประสบการณ์ทางธุรกิจและคุณสมบัติของผู้ประกอบการ
  -กิจกรรมก่อนเริ่มดำเนินการ และค่าใช้จ่าย
  -ที่ตั้งสำนักงาน และสาขา (ถ้ามี)
  -อุปกรณ์สำนักงาน และอายุการใช้งาน
  -ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

8. แผนการเงิน
แผนการเงิน แผนการเงินจะประกอบด้วยสมมติฐานต่างๆทางการเงิน เช่น
-เงินทุนที่ต้องการ (ต้นทุนโครงการ)
-แหล่งเงินทุน (แผนการลงทุนและการกู้เงิน)
-ประมาณการจุดคุ้มทุน
-ประมาณการงบกำไรขาดทุน
-ประมาณการงบดุล
-ประมาณการงบกระแสเงินสด
-การชำระคืนเงินกู้หรือการจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน
-การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
  แผนการเงินนั้นมีส่วนช่วยให้ผู้ร่วมลงทุนและสถานบันการเงินเกิดความมั่นใจ เพราะถ้าหากเราตั้งสมมติฐานทางการเงินอย่างสมเหตุสมผลเราก็จะดูน่าเชื่อถือ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราตั้งสมมติฐานทางการเงินไม่สมเหตุสมผลก็จะทำให้เราดู อ่อนประสบการณ์ไปโดยปริยาย

9. แผนการดำเนินงาน
แผนการดำเนินการ คือการจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์แต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมนั่นเอง  ผู้ประกอบการอาจจะสร้างเป็นตารางแจกแจงให้เห็นเป้าหมาย  กลยุทธ์  วิธีการ  งบประมาณ  และระยะเวลาดำเนินการ เป็นรายเดือนหรือรายปี เช่น
  -จัดทำรายละเอียดกิจกรรมที่ต้องทำ
  -แบ่งตามช่วงเวลา
  -ระบุงบประมาณ
  -ระบุวิธีการวัดผล ประเมินผลกิจกรรม
  -ระบุผู้รับผิดชอบ

10. แผนฉุกเฉิน
แผนฉุกฉิน เป็นแผนสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีเพื่อเอาไว้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ คิดไว้ล่วงหน้าหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น คู่แข่งขายสินค้าตัดราคา สินค้าถูกเลียนแบบ หรือวัตถุดิบไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้กิจการได้รับผลในด้านลบ ผู้ประกอบการควรอธิบายเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กับแผนฉุกเฉิน เอาไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากจะได้เป็นการเตรียมการในการแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้ผู้ร่วมลงทุน และสถาบันการเงินเห็นความพร้อมของเราอีกด้วย




SHARE

Southern Man

This blog www.whoknown.com ,write to prevent forgotten .

    Blogger Comment
    Facebook Comment

1 ความคิดเห็น:

  1. สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ในแผนปฏิบัติการขยายธุรกิจมีอะไรบ้างคะ

    ตอบลบ

Advertisement