มาบริจาคเกล็ดโลหิตกันเถอะ


          ปกติก็เป็นคนที่บริจาคเลือดเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2545 สมัยนั้นครั้งแรกก็เป็นการบริจาคตอนเรียนมหาวิทยาลัยเนื่องในโอกาสอะไร จำไม่ได้แล้ว หลังจากนั้นก็มีบริจาคมาบ้าง ห่างหายไปบ้าง ซึ่งจริงๆก็น่าจะประมาณ 30 กว่าครั้งแล้ว


           แต่เนื่องจากเมื่อก่อน เป็นระบบเขียนบนบัตรที่เป็นกระดาษ ข้อมูลต่างๆบางครั้งที่เราไปบริจาคทีอื่นที่ไม่ใช่ของสภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะไม่ได้บันทึกเข้าในระบบ ดังนั้นของผมมันจึงหายไปจากครั้งที่ 20 กว่าต้องมานับครั้งล่าสุดที่เป็นครั้งที่ 8  แล้วมาเริ่มนับเป็นครั้งที่ 9 เมื่อ มกราคม 2554

          แต่บทความนี้ที่จะมาเล่าให้ฟังก็คือ การบริจาคเกล็ดโลหิต ซึ่งจะเขียนตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาส หลังจากเมื่อวานซืน พึ่งไปบริจาคมาสดๆ ร้อนๆ ก็เลยถือโอกาสนี้นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังครับ

ขั้นนแรกผมขอเอาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับคนที่จะบริจาคเกล็ดโลหิต คือ

การบริจาคเกล็ดโลหิต (Single Donor Platelets) จะไม่เปิดรับทั่วๆ ไป เหมือนการรับบริจาคโลหิต เพราะก่อนการบริจาคเกล็ดโลหิต จะขอเจาะโลหิตไปตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน ซึ่งต้องมีจำนวนเกล็ดโลหิตมากกว่า 250,000 ตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร เพราะการรับบริจาคเกล็ดโลหิตจะกระทำโดย ใช้เครื่องรับบริจาคโลหิตอัตโนมัติ โดยจะแยกเฉพาะเกล็ดโลหิตไว้เท่านั้น และมีระยะเวลาในการบริจาคค่อนข้างนาน  ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว หลังจากนั้น 1 เดือน ก็สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ 

       ข้อกำหนดพิเศษสำหรับผู้บริจาคเกล็ดโลหิต

      - มีอายุ 18-50  ปี น้ำหนัก 55 กก.ขึ้นไป
      - หมู่โลหิตจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต
      - เส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน
      - เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำสม่ำเสมอทุก 3 เดือนติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
      - มีจำนวนเกล็ดโลหิต 2.5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร (โดยก่อนบริจาคเกล็ดโลหิตจะขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล้ดโลหิตก่อน)

       เมื่อครบกำหนดบริจาคโลหิตครั้งต่อไป กรุณาติดต่อ ห้องรับบริจาคพลาสมาและเกล็ดโลหิต เพื่อให้เจ้าหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติ ว่าสามารถบริจาคเกล็ดโลหิตได้หรือไม่

หมายเหตุ ** ในกรณีที่ เจ้าหน้าที่คัดกรอง เห็นว่าผู้บริจาคโลหิตมีคุณสมบัติ ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ ก็สามารถปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ตามขั้นตอนได้

นั่นคือความหมายและขั้นตอนของการบริจาคเกล็ดโลหิตครับ  ทีนี้มาดูว่าขั้นตอนที่ไป และบรรยากาศในการบริจาคเกล็ดโลหิตเป็นยังไงบ้าง

ครั้งนี้ก็ปกติครับ ครบกำหนด 1 เดือนหลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตครั้งที่แล้ว ก็ไปที่ศูนย์บริจาคโลหิต สภากาชาดไทย ตรงถนนอังรีดูนังต์  หน้าประตูก็จะมีบอกเวลาทำการในการรับบริจาค


เมื่อเปิดประตูเข้าไป ก็จะมีป้ายแนะนำสำหรับคนที่มาครั้งแรก อาจจะงงๆ แต่ถ้าบางวันก็จะมีน้องๆ จิตอาสามาค่อยแนะนำให้ครับ 

อันนี้เป็นขั้นตอนการบริจาคโลหิต
  • กรอกแบบฟอร์มบริจาคโลหิต
  • คัดกรองผู้บริจาคโลหิต
  • ลงทะเบียนผู้บริจาคโลหิต
  • บริจาคโลหิต (ชั้น 2) บริจาคเฉพาะส่วนประกอบโลหิต ชั้นล่าง ก็คือที่ที่เราจะบริจาคเกล็ดเลือดนั่นเอง  ถ้าเดินเข้าไปก็จะอยู่เป็นห้องกระจก ทางด้านขวามือ  
 
ปกติถ้าคนที่บริจาคเกล็ดเลือดไม่เยอะ ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามเราว่า บริจาคเลือดไปกี่ครั้งแล้ว ถ้าเกิน 3 ครั้งต่อเนื่อง ก็จะสามารถบริจาคเกล็ดโลหิตได้  ถ้าเราสนใจเจ้าหน้าที่ก็จะขอบัตรเราไปดูประวัติ ถ้าผ่านก็จะขอเจาะเลือดเพื่อไปตรวจจำนวนเกล็ดโลหิต ซึ่งจะต้องมากกว่า 2.5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร




          ขั้นแรกเราก็กรอกใบขอบริจาคให้เรียบร้อย ก็ไม่มีอะไรมากกรอกไปตามความจริง เพราะถ้าเรากรอกไม่จริงไป เช่นถามว่ากินยาแอสไพรินมาไหม ถ้าเราบอกไม่กิน แต่ที่จริงเรากินมา พอเค้าเจาะเลือดเราไป มันก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยทั้งผูบริจาค และผู้รับบริจาคเราก็จำเป็นที่จะต้องกรอกข้อมูลเป็นจริงที่สุดครับ


          และสำหรับการบริจาคเกล็ดโลหิต อย่ากินของอาหารที่มีไขมันเยอะไป เช่นพวกไข่เจียว ไข่เค็ม ปาท๋องโก๋ และอีกหลายอย่าง พอตรวจเลือดมา มันจะขุ่น ทำให้บริจาคเกร็ดเลือดไม่ได้ ส่วนถ้าไปบริจาคเลือด ก็จะได้ไปไม่สมบูรณ์ 100 % จะต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ

ตัวอย่างอาหารที่มีผลต่อไขมันในเลือด




          หลังจากกรอกแบบฟอร์มเสร็จ เราก็ต้องไปวัดความดันโลหิต ตอนนี้เค้าจะเอาเครื่องวัดความดันโลหิต มาวางไว้ให้เราวัดเอง ก่อนที่จะเข้าพบแพทย์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานลง มันจะพิมพ์ผลออกมาอัตโนมัติ (รูปด้านล่างขวามือ) เราก็เอาใบนี้แนบไปกับใบขอบริจาคโลหิต


ถ้าเราจะบริจาคเลือดธรรมดา ก็ไปขั้นที่  ก็ไปขั้นตอนที่ 2 เพื่อเข้าพบแพทย์ แต่ถ้าต้องการบริจาคเกล็ดโลหิต ก็เดินไปทางขวามือ จะเป็นห้องสำหรับบริจาคเกล็ดโลหิตและส่วนผสมเลือดอื่นๆ เพื่อให้เค้าเจาะเอาเลือดเราไปวัดจำนวนเกล็ดโลหิต รอไม่นานครับไม่ถึง 10 นาที ถ้าผ่านเค้าก็จะแนบใบไปกับใบขอบริจาคของเรา จากนั้น ขั้นตอนต่อไปก็กดบัตรคิว รอพบแพทย์




           ในขั้นตอนการพบแพทย์ ถ้าเรามาบริจาคเลือดธรรมดา ก็ต้องโดนเจาะเลือดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดว่าเลือดเราลอยหรือเปล่าและก็ตรวจกรุ๊ปเลือดไปพร้อมๆกัน แต่ถ้าเราไปเจาะที่ห้องบริจาคเกล็ดเลือดมาแล้ว มาที่ห้องนี้ก็ไม่ต้องเจาะอีก ในห้องนี้เราก็จะได้ยา จากนั้นเมื่อพบแพทย์เสร็จ (จะได้ยาบำรุงโลหิตด้วยจะมีประมาณ 50 เม็ด)  ก็ไปลงทะเบียนประวัติที่เคาเตอร์หมายเลข 3 เป็นอันเสร็จในเบื่้องต้น

  • ถ้าบริจาคโลหิต ก็ขึ้นบันไดเลื่อนไปกดบัตรคิวรอที่ชั้นสอง
  • ถ้าบริจาคเกล็ดโลหิตก็ไปที่ห้องที่เราเจาะเลือดอีกครั้ง นำใบบริจาคและบัตรเข้าไปให้เจ้าหน้าที่
ใบบริจาคโลหิตเราก็จะลงทะเบียนประวัติว่าบริจาคครั้งที่เท่าไหร และถ้าเป็นการบริจาคเกล็ดโลหิต เจ้าหน้าที่จะเขียนจำนวนเกล็ดโลหิตไว้ด้วย เช่น 305 ก็เท่ากับ 305000 ตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร(เจ้าหน้าที่ในห้องบริจาคจะเป็นคนเขียนในส่วนนั้น ส่วนจำนวนครั้ง ก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ลงทะเบียนเคาร์เตอร์ที่ 3 )


 หากว่าบางครั้งความดันเราสูงเกินไป เช่นเกิน 150 mmHg ก็อาจจะต้องวัดความดันอีกครั้งเพราะการบริจาคเกล็ดเลือด ต้องใช้เวลานานถ้าผู้บริจาคมีความดันสูงเกินไป ก็อาจจะทำให้เป็นอันตรายเช่นช๊อคได้



         เมื่อเข้าไปก็รอ ถ้าคิวว่างก็สามารถบริจาคได้เลย แต่ก่อนบริจาคก็ต้องกินยาแคลเซี่ยมก่อน 1 เม็ด เจ้าหน้าที่เค้าจะเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว  และอีกอย่างก่อนที่จะบริจาคเกล็ดโลหิต เราต้องเข้าห้องน้ำทำธุระอะไรให้เสร็จก่อน เพราะจะไม่สามารถลุกมาเข้าห้องน้ำได้ ต้องนอนบริจาคต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง ชั่วโมง 45 นาที 

          บรรยากาศภายในห้อง เข้าไปก็จะมีซ้ายขวาข้างละ 10 เตียง ปกติก็จะเต็มอยู่ตลอดครับ ครั้งนี้ผมได้เตียงในสุดเลย เดินไปๆ   (หากใครกลัวนอนนานจะเบื่อก็สามารถหาหนังสือไปอ่านได้ครับ หรือจะพก Tablet เปิดดูข่าวก็ได้ ซึ่งข้างนอกก็มีบริการฟรี Wi-Fi ให้ผู้มาขอบริจาคไปขอรหัสได้ หรือถ้าไม่ได้เอาอะไรมา ภายในห้องก็จะมีโทรทัศน์ให้เราดู เสียบหูฟังฟังอย่างสบายใจ อิอิ


          เมื่อไปถึงเตียงบริจาค ก็ขึ้นไปนอนได้เลยจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยจัดการให้ และมีผ้าห่มหนาๆให้สองผืน ใครจะขอเพิ่มก็ได้ เพราะในห้องนี่หนาว เจ้าหน้าที่เขาจะถามส่วนสูงและน้ำหนักจะเซ็ทเวลาตามสัดส่วนและสรีระของแต่ละคนซึ่งจะไม่เท่ากัน
          ส่วนขั้นตอนที่เหลือ ผมคงไม่อธิบาย เพราะมันก็เยอะคุณพยาบาลเค้าเป็นคนจัดการให้หมด อีกอย่างกลัวอธิบายไปเดี๋ยวผิดอีก แฮะๆ เพราะศัพท์ทางการแพทย์นี่มันก็เรียกยากเหมือนกัน งั้นมาดูรูปกันดีกว่า 

          เข็มที่เจาะที่ข้อพับแขนจะมีแค่ 1 เข็ม จะเห็นว่าสายจะเยอะกว่าการบริจาคเลือดธรรมดา ส่วนตอนเจาะก็ไม่เจ็บครับ จี๊ดเดียวเหมือนมดกัด ( หากใครต้องการฉีดยาชาก็สามารถให้พยาบาลฉีดให้ได้ครับ ) ที่สายยางจะแยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งเอาเลือดออกจากร่างกาย อีกทางผสมกับน้ำยาใสๆ ฉีดกลับเข้าร่างกาย สลับกันไป ประมาณครั้งละ 3 นาที 

หากเครื่องดูดเลือดออกสายที่รัดตรงต้นแขน (คล้ายๆกับสายวัดความดันจะรัดแน่นขึ้น) เราต้องบีบมือมากๆ เพื่อให้เลือดออกไปให้มากที่สุด  ประมาณ 3 นาทีผ่านไป สายรัดข้อแขนจะคลายออกเอง เมื่อมันคลายเราก็ไม่ต้องบีบมือ ปล่อยให้เครื่องคืนเลือดเข้าตัวเราอีก 3 นาที


 ส่วนรูปด้านล่างก็จะเป็นเครื่องปั่นที่จะปั่นเลือดเราให้เหลือแต่เกล็ดเลือด ขณะที่นอนบริจาคนี่ ช่วงที่เลือดโดนดูดออกจะไม่รู้สึกอะไรเหมือนการบริจาคเลือดธรรมดา แต่ตอนที่เอาเลือดกลับนี่ซิ จะรู้สึกชาๆปาก ชาๆหน้าเล็กน้อย ถ้าครั้งแรกก็ไม่ต้องตกใจเพราะปกติ แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ และจะหนาวกว่าปกติ มิน่าถึงมีผ้าห่มให้เยอะ


 
 ถุงที่ใส่น้ำสีเหลืองขุ่นๆนั่งเองคือเกล็ดโลหิตที่ต้องการ


มีทีวีให้นอนดูขณะบริจาคด้วย มีหูฟังเสียบฟังคนเดียวไม่รบกวนชาวบ้าน 55


 เอาเป็นว่าขั้นตอนระหว่างนั้นก็ผ่านไป เมื่อเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บเกล็ดโลหิตของเรา ดึงเข็มออกจะมีผ้ารัดมารัดที่แขนเราซึ่งให้รัดไว้ซักครู่ เพราะกลัวเลือดจะไหลออก


จากนั้นก็ไปพักก่อนในห้องที่จัดไว้ ซึ่งส่วนมากหลังบริจาคเสร็จทุกคนต้องเดินปรี่ไปเข้าห้องน้ำก่อน แหมนอนนิ่งอยู่ชั่วโมงกว่าก็ต้องปวดเป็นธรรมดา 55 ระหว่างนั่งพักก็จะมีอาหารว่างให้เราทานด้วย


 เมื่อเห็นว่าเรารู้สึกสบายไม่เป็นอะไรแล้ว ก็เอาสายรัดออก จะมีเจ้าหน้าที่ค่อยทำแผลให้ แล้วก็ติดพลาสเตอร์ยาให้เรา เห็นไหมละครับ ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลยมาช่วยกันบริจาคเยอะๆ ถ้าใครยังไม่เคยก็ต้องเริ่มที่บริจาคโลหิตก่อน จากนั้นก็ค่อยมาดูว่าเราสามารถที่จะบริจาคเกล็ดโลหิตได้ไหม อย่าลืมนะครับ เลือดของเราน้อยนิดสามารถที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ได้อีกหลายๆคนครับ

เพิ่มเติม
ประโยชน์ของเกล็ดเลือด ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ดังนี้
- ผู้ป่วย โรค Leukemia โดยจะต้องรับเกล็ดเลือดสัปดาห์ละ 2ครั้ง ถึงวันเว้นวันขึ้นกับอาการโรค
- ผู้ป่วย Dengue fever (ไข้เลือดออก) จะใช้เกล็ดเลือดเวลาที่มีเลือดออกมาก
- ผู้ป่วยมะเร็ง
- DIC
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia )ในโรคอื่นๆ
- โรคเลือดอื่นๆ
- Aplastic anamia

หากต้องการข้อมูลเพิ่มว่า เอ๊ะเราบริจาคได้ไหม,ไปบริจาคที่ไหนได้บ้าง หรือคำถามอื่รๆก็สามารถติดต่อไปที่  02-263-9600-99 ต่อ 1143  หรือ http://www.redcross.or.th  

วัน เวลาทำการบริจาคเกล็ดโลหิต
  •      จันทร์,พุธ,ศุกร์                                  เวลา  08.30 - 15.00 น.
  •      อังคาร,พฤหัสบดี                               เวลา  07.30 - 17.00 น.
  •      เสาร์, อาทิตย์                                   เวลา  08.30 - 11.30 น.
     ปิดทำการวันหยุดนักขัตฤกษ์
*นัดหมายการบริจาคเกล็ดโลหิต หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2263 9600 ต่อ 1143,1144

อีกนิด
เจ้าหน้าที่บอกว่า อุปกรณ์ 1ชุดของการบริจากเกล็ดเลือด มีราคาเกือบประมาณ 5000-7000 บาท ทุกอย่างใช้ครั้งเดียวทิ้ง  ถ้าเกร็ดเลือดเราที่บริจาคไปแล้วมันดันใช้ไม่ได้หลังบริจาคและตรวจสอบ  อุปกรณ์พวกนั้นต้องทิ้งไปทั้งชุดเลยครับ

3 กุมภาพันธ์ 2557  
ขอ update หน่อยครับ 

1. เดือนที่ผ่านมา พอดีเจ้าหน้าที่เค้าได้แจกเวลาทำการของห้องบริจาคพลาสมาและเกล็ดโลหิตมา เพราะเค้าแจ้งว่าบางคนตั้งใจไปบริจาคเกล็ดโลหิต แต่ไปเวลาที่เค้าจะปิดแล้ว เค้าจึงทำมาให้ดูครับ ว่าวันไหนรับคนสุดท้าย เวลาเท่าไหร


 2. ตอนนี้ผ่านครั้งที่ 24 มาแล้วได้เข็มมาด้วยครับ ตอนนี้เป็นครั้งที่ 25 สาเหตุที่ช้าเพราะตอนนั้น ไปบริจาคเลือดซะหลายครั้ง เลยต้องเว้นครั้งละ 3 เดือนครับ เพราะช่วงนั้นเค้าบอกว่าเลือดกำลังขาดเลยตัดสินใจบริจาคเลือดไปก่อน

หมายเหตุ : หากข้อความช่วงไหนไม่ถูกต้อง ก็ต้องขออภัยด้วยครับ



SHARE

Southern Man

This blog www.whoknown.com ,write to prevent forgotten .

    Blogger Comment
    Facebook Comment

14 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณผู้บริจาคทุกท่านค่ะ คุณพ่อ เพิ่งรับบริจาคเกร็ดเลือด เพิ่งรู้ว่าค่าใช่จ่ายสูงมากมาก จะได้ร่วมสมทบค่าใช้จ่ายตลอดไป เสียดายที่ตัวเองสุขภาพไม่ดี ไม่สามารถบริจาคได้ มีเพียงน้องสาวที่บริจาคโลหิต มาต่อเนื่อง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอให้คุณพ่อหายไวๆนะครับ

      ลบ
  2. ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ ผมก็บริจาคเกล็ดโลหิตต่อเนื่อง
    แต่ไม่เคยทราบเลยว่าเอาไปทำอะไร
    น่าจะมีกฏหมายบังคับให้คนบริจาคเลือดเนอะ จะได้ช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้นน่ะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยินดีครับ แต่เรื่องที่ว่ามีกฎหมายบังคับ คงยังไม่ถึงขนาดนั้น เราเอาแค่เราสบายใจที่ได้ช่วยคนอื่น การไปบังคับกันแบบนั้นคงไม่ได้บุญทั้งคนให้ ส่วนคนรับถ้ารู้เค้าก็คงไม่สบายใจครับ (แต่ที่เห็นด้วยอยากให้บังคับพวกที่ทำผิด ให้รับโทษนอกจากติดคุกแล้ว ผู้ที่ร่างกายสามารถบริจาคได้ ต้องบริจาคเลือดประจำ จนกว่าจะครบกี่ปีก็ว่าไป )

      ลบ
  3. ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ปกติบริจาคเลือดธรรมดาๆเท่านั้น ถ้ามีโอกาสจะขอลองบริจาคเกร็ดเลือดดูสักครั้งในชิวิตนะคะ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ แต่"เกล็ดเลือด"สะกดแบบนี้นะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณมากครับ บางคำที่พิมพ์ผิดว่าเกร็ด ผมแก้เป็น เกล็ดเลือด หมดแล้วครับ

      ลบ
  5. panya rittidetch17/12/56 10:39

    ขอบคุณมากครับผมบริจาคโลหิตมาแล้ว44ครั้งกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะบริจาคเกล็ดเลือดดีมั้ยครั้งล่าสุดก้อเมื่อวันพ่อนี่เองต้องคอยไปอีก3เดือนละสิ ขอบคุณอีกครั้งที่ช่วยให้ผมตัดสินใจเร็วขึ้น

    ตอบลบ
  6. ยินดีมากครับ

    ตอบลบ
  7. ผมได้บริจาคมา สามสิบกว่าครั้งตั้งใจเมื่อครบ ครั้งที่ 36 แล้วจะเริ่มบริจาค. นอกจากจุดรับบริจาคแล้วในส่วนของโรงพยาบาลแต่ละจังหวัด มีระบบการรับบริจาคเกล็ดเลือดไหมครับ
    ที่ถามผมเดินทางบ่อยเผื่อสะดวกเรื่องเวลาและสถานที่. จะได้ บริจาค ตามพิกัดนั้นๆ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เกล็ดเลือด จะไม่ไม่กี่ที่ครับ เพราะมันเก็บได้ไม่นานเหมือนเลือด ต้องไปอย่างที่สภากาชาดไทย ที่นี่บริจาคได้แน่นอน ส่วนต่างจังหวัด โรงพยาบาลเล็กๆ ก็ไม่มีเหมือนกัน

      ลบ
  8. ขอบคุณมากๆนะคะ
    สำหรับการแบ่งปันข้อมูลอย่างละเอียดมาก
    มีภาพประกอบอีกด้วย ����
    คือหนูบริจาคแต่โลหิตทั่วไป
    ตอนกรอกประวัติเห็นมีช่องให้เลือกบริจาคอะไร?
    สงสัยมานานแล้ววันนี้ลองค้นหาข้อมูลดู

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยินดีครับผม เรื่องนี้เขียนไว้นานแล้ว ตอนอยู่ กทม ผมบริจาคบ่อย แต่ตอนนี้ย้ายมาต่างจังหวัด เขาไม่ค่อยต้องการเร่งด่วนเหมือนที่กาชาดใหญ่ และมันเก็บได้เวลาสั้นๆ เลยต้องบริจาคเลือดธรรมดาแทน ทุก 3 เดือนเหมือนเดิมครับ

      ลบ

Advertisement